ข้อควรระวังเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและภาษีนำเข้าสินค้าปลายทาง
แม้ว่าการส่งออกสินค้าในประเทศไทยจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 0%) แต่ผู้ประกอบการ ไม่ควรมองข้ามภาระภาษีและค่าธรรมเนียมที่ผู้รับปลายทางในต่างประเทศอาจต้องชำระ ซึ่งอาจมีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า และต้นทุนรวมของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และในบทความนี้ของ SME Shipping จะพาคุณศึกษาข้อควรระวังเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและภาษีนำเข้าสินค้าปลายทาง เพื่อให้ธุรกิจของคุณเป็นไปอย่างราบรื่น
ภาษีนำเข้าคืออะไร?
ภาษีนำเข้า (Import Duty) คือภาษีที่รัฐบาลของประเทศปลายทางเรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ เพิ่มรายได้ของรัฐ และควบคุมประเภทของสินค้าที่เข้าประเทศ
อัตราภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้าและประเทศปลายทาง เช่น:
- เสื้อผ้าแฟชั่น: 10–30%
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์: 0–15%
- อาหารและเครื่องดื่ม: อาจมีภาษีและข้อกำหนดด้านสุขอนามัยเพิ่ม
การคำนวณภาษีนำเข้า มักพิจารณาจาก:
- มูลค่าของสินค้า (รวมค่าส่งและค่าประกัน)
- รหัสพิกัดศุลกากร (HS Code)
- กฎระเบียบของประเทศปลายทาง
ภาษีและอากรมีผลกระทบต่อการจัดส่งของคุณอย่างไร?
ภาษีและอากรนำเข้าอาจส่งผลโดยตรงต่อต่อการทำธุรกิจส่งออกทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น
- ต้นทุนรวมปลายทางของลูกค้าที่ลูกค้าอาจต้องชำระภาษีเพิ่มเติมเมื่อรับสินค้า ทำให้ราคาสูงกว่าที่คาดไว้
- ความล่าช้าในการจัดส่ง ซึ่งหากเอกสารศุลกากรไม่ครบถ้วน หรือสินค้าต้องผ่านการตรวจสอบพิเศษ อาจทำให้จัดส่งล่าช้า
- ลูกค้าอาจไม่พอใจหากต้องจ่ายค่าภาษีโดยไม่รู้ล่วงหน้า หรือเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย
- ความเสี่ยงในการปฏิเสธรับสินค้าหากค่าภาษีนำเข้าสูงเกินไป ลูกค้าอาจปฏิเสธการรับสินค้า ทำให้ผู้ขายต้องรับภาระคืนสินค้า
ภาษีและค่าธรรมเนียมที่ควรระวัง
1. ภาษีนำเข้า (Import Duties)
- แต่ละประเทศมีอัตราภาษีนำเข้าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและมูลค่า
- สินค้าบางประเภทอาจได้รับยกเว้นภาษี หากอยู่ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)
2.ภาษีมูลค่าเพิ่มปลายทาง (VAT / GST)
- หลายประเทศมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีบริการ (เช่น GST ในออสเตรเลีย, VAT ในสหภาพยุโรป)
- แม้สินค้าจะได้รับยกเว้นภาษีจากฝั่งผู้ส่งออก แต่ผู้รับปลายทางอาจต้องชำระ VAT เมื่อของถึง
3. ค่าธรรมเนียมศุลกากร / ค่าดำเนินพิธีการ (Customs Clearance Fees)
- บางประเทศมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการนำเข้าสินค้าหรือค่าตรวจสอบพิเศษ
- ควรสอบถามล่วงหน้ากับผู้ให้บริการโลจิสติกส์
4. ค่าธรรมเนียมบริษัทขนส่ง (Handling Fee / Brokerage Fee)
- บริษัทจัดส่ง เช่น DHL, FedEx หรือ UPS อาจมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินเอกสารศุลกากรเพิ่มเติม
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
- แจ้งลูกค้าอย่างชัดเจน ว่าอาจมีค่าใช้จ่ายปลายทางเพิ่มเติม
- ศึกษาอัตราภาษีปลายทางล่วงหน้า หรือใช้บริการที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
- ใช้ Incoterms ให้เหมาะสม เช่น:
- DAP (Delivered At Place): ผู้ขายรับผิดชอบจนถึงปลายทาง แต่ลูกค้ารับผิดชอบภาษีนำเข้า
- DDP (Delivered Duty Paid): ผู้ขายรับผิดชอบทั้งค่าขนส่งและภาษีนำเข้าทั้งหมด
แม้ว่าจะสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในฝั่งประเทศไทยได้ แต่ควรพิจารณา “ต้นทุนรวมถึงปลายทาง” เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ไม่เกิดความเข้าใจผิด และสามารถวางแผนราคาขายระหว่างประเทศได้อย่างมืออาชีพตลอดจนดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจได้แบบไม่มีสะดุด